25.12.08

ชวนชม ความงามรูปแบบที่น่าเชยชม

ชวนชม ความงามรูปแบบที่น่าเชยชม

ทุกวันนี้ มนุษย์ได้ก้าวสู่ยุคโลกร้อน (global warming) แล้วอย่างปราศจากข้อสงสัย

ไม้ดอกบางชนิดก็ดูเหมือนจะปรับตัวให้เข้ากับอากาศร้อนในตอนนี้ได้ดี ทำให้มีโอกาสขยายความนิยมไปได้กว้างขวางยิ่งขึ้น ทั้งในเขตร้อน (tropical) และ กึ่งร้อน (sub tropical) ไปสู่เขตอบอุ่น (temperate) ดังเช่น ไม้ดอกที่จะนำมาเสนอท่านผู้อ่าน นั้นคือ ชวนชม

ชวนชม : ไม้งามจากแดนไกล

ชวนชมมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Adenium obesum Balf. อยู่ในวงศ์ Apocynaceae เช่นเดียวกับตีนเป็ด และบานบุรี

ลำต้น ยาว 1 -2 เมตร ผิวตึงเพราะอวบน้ำ แตกกิ่งก้านได้ดี

ใบ สีเขียว ค่อนข้างหนา ผิวใบเป็นมัน เส้นกลางใบเป็นสีเขียวเห็นได้ชัดเจน ในรูปร่างยาวรี ปลายมน โคนใบสอบเข้า ใบจะอยู่ตามปลายกิ่งก้าน

ดอก เป็นรูปแตร ปลายกลีบแยกออกจากกันเป็น 5 กลีบ ขนาดยาวราว 5 เซนติเมตร ออกดอกตามปลายยอดของกิ่งก้าน

ดอกชวนชมมีหลายสี เช่น สีชมพู แดง ม่วง และ สีขาว รวมทั้งมีสีเข้ม สีอ่อน และมีสีเหลือบต่างสีกลางกลีบดอกอีกด้วย ทำให้ดอกชวนชมมีความหลากหลาย

ชวนชมเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่มาจากแดนไกล ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของชวนชม อาจเดาได้จากชื่อภาษาอังกฤษคือ Impala lily เพราะอิมพาลาเป็นสัตว์ของทวีปแอฟริกาชวนชมก็มาจากทวีปแอฟริกาเช่นเดียวกัน ชวนชมเข้ามาในเมืองไทยนับร้อยปีมาแล้ว ดังพบชื่อในวรรณคดีไทยบางเรื่อง โดยอาจเรียกว่า “ชวนชม” ซึ่งหมายถึง “ชวนมอง” นั่นเอง

ชวนชมเหมาะที่จะปลูกในกระถาง เพราะมีขนาดไม่ใหญ่นัก อีกทั้งลักษณะต้นยังเหมาะแก่การปลูกเป็นบอนไซ เพราะแข็งแรงทนทาน มีทรงต้นและรากที่สามารถทำให้เป็นพูพอนขนาดใหญ่คล้ายต้นไม้โบราณได้ง่าย ขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น เพาะเมล็ด ตอนกิ่งและเสียบกิ่ง เป็นต้น ปลูกง่าย โตเร็ว แข็งแรงทนทาน ทนร้อนและแห้งแล้งได้ดี ชอบแดดจัด และออกดอกตลอดทั้งปี บางสายพันธุ์ยังมีกลิ่นหอมอีกด้วย ชวนชมจึงนับเป็นไม้ดอกน่าปลูกอีกชนิดหนึ่งในยุคโลกร้อนนี้

23.12.08

นมตำเลียดอกไม้งามอย่างพอเพียง

นมตำเลียดอกไม้งามอย่างพอเพียง

ในบรรดาดอกไม้หลายสิบชนิดที่คอลัมน์นี้นำเสนอมาแล้ว ดูเหมือนจะไม่มีชนิดใดที่มีชื่อแปลกเหมือนดอกไม้ที่จะนำเสนอในครั้งนี้เลย รวมทั้งยังมีคุณลักษณะพิเศษเป็นดอกไม้ขนาดเล็กแต่ไม่เล็กเกินไป หรืออาจจะเรียกได้ว่ามีขนาด “พอเพียง” อีกด้วยนับว่ามีความทันสมัยเหมาะกับยุคนี้เป็นอย่างยิ่ง ดอกไม้ชนิดนี้มีนามว่า “นมตำเลีย”

นมตำเลียมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Hoya ovalifolia & Wight Arm อยู่ในวงศ์ Asclepiadaceae เป็นไม้เถาขนาดเล็ก ในธรรมชาติมักอาศัยอยู่บนต้นไม้ ทุกส่วนของลำต้นมียางสีขาว

ใบ เป็นใบเดี่ยวออกเป็นคู่ ๆ ตามข้อเถา ใบหนาผิวมัน ขอบใบเรียบ รูปใบคล้ายหัวใจ กว้างยาวราว 6 เซนติเมตร

ดอก ออกเป็นช่อตามง่ามใบ แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยมากมาย แต่ละดอกประกอบด้วยกลีบด้านนอก 5 กลีบ และกลีบเล็กอีก 5 กลีบทาบติดกับกลีบด้านนอก กลีบดอกเต่งตึงเป็นมันคล้ายทำด้วยเทียนหรือขี้ผึ้ง ดอกมีกลิ่นหอม

ผล นำตำเลีย มีผลเป็นฝัก ผิวของฝักมีขนอ่อนปกคลุม

นมตำเลียที่นิยมปลูกเป็นไม้ประดับปัจจุบันมีหลายพันธุ์ แต่ละพันธุ์มีลักษณะดอกและสีดอกแตกต่างกันออกไป เช่น สีแดง ชมพู เหลือง และขาว เป็นต้น

ชื่อที่ใช้เรียบนอกจากนมตำเลียแล้ว ก็มี นมตำเรีย นมมาเลีย (ภาคกลาง) เนื้อมะตอม (ภาคเหนือ) ภาษาอังกฤษเรียก Wax Plant

นมตำเลียชอบที่ร่ม มีความชื้นและแสงสว่างพอประมาณ ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ตอน หรือปักชำ

นมตำเลียมีขนาดเล็กเหมาะสำหรับปลูกในกระถางแขวน ปลูกไม้ยาก รูปทรงลำต้น ใบ และดอก กะทัดรัดงดงาม น่ารัก ไม่ฉูดฉาดหรูหรา หรืออาจจะเรียกว่า “งามอย่างพอเพียง” ได้

นอกจากนี้ ยางจากลำต้นยังนำไปปรุงเป็นยาขับปัสสาวะได้ด้วย

21.12.08

กระเจียวอัญมณีจากพงไพรที่เริ่มเปล่งประกาย

กระเจียวอัญมณีจากพงไพรที่เริ่มเปล่งประกาย

ปี พ.ศ. 2550 อาจเป็นปีที่ชาวไทยส่วนใหญ่เริ่มยอมรับ ว่าปรากฏการณ์โลกร้อน (Global Warming) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วจริง ๆ โดยเฉพาะกับประเทศไทย เพราะอากาศเริ่มร้อนขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ เมื่อถึงเดือนมีนาคม อุณหภูมิบางแห่งก็ทะลุ 40 องศาเซลเซียสแล้ว เดือนเมษายน ซึ่งปกติเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดในประเทศไทย คงจะทำสถิติร้อนที่สุดในรอบหลายสิบปี หากไม่มีฝนหลงฤดูมาลดอุณหภูมิลงไปบ้าง

อากาศที่ร้อนจัดทำให้ดอกหลายชนิดเหี่ยวเฉา แต่ไม้ดอกพื้นเมืองส่วนใหญ่ กลับออกดอกงดงามเป็นพิเศษ เช่น คูน หรือราชพฤกษ์ เป็นต้น จากนี้ไปในอนาคตที่แนวโน้มอุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ จึงคาดว่า พันธุ์ไม้ดอกพื้นเมืองของไทย จะเพิ่มความสำคัญขึ้นทุกที ไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังขยายออกไปต่างแดนด้วย ตัวอย่างที่จะยกมาในที่นี้ คือ กระเจียว

กระเจียว : ไม้ดอกพื้นบ้านดั้งเดิมจากพงไพร

กระเจียวมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Curcuma aeruginosa Roxb. อยู่ในวงศ์ Zingiberaceae เช่นเดียวกับ ขิง ข่า ขมิ้น ฯลฯ เป็นพืชล้มลุกที่มีลำต้นใต้ดิน (เรียกว่าหัว)

ใบ จะงอกออกจากลำต้นใต้ดินในฤดูฝน โผล่พ้นผิวดินขึ้นมา ประกอบด้วยก้านใบ (กาบใบ) ห่อรวมกันแน่นกลายเป็นลำต้นเทียม แล้วแยกออกจากกันเป็นก้านใบ และแผ่นใบ คล้ายกระชาย หรือขมิ้น สูงตั้งแต่ประมาณ 20 -30 เซนติเมตร ขึ้นไปถึงราว 100 เซนติเมตร

ดอก ดอกกระเจียวจะโผล่ออกตรงกลางลำต้นเทียมเป็นดอกแบบช่อ ก้านช่อดอกยาวตรง มีดอกจริงอยู่รอบ ๆ ก้านดอก เป็นชั้น ๆ ด้านนอกมีใบประดับดอกเป็นกลีบหนา และมีสีสวยงาม เช่น สีส้ม สีแดง สีขาว สีชมพู สีเขียว เป็นต้น ดอกกระเจียวจะออกดอกในช่วงฤดูฝน มีอายุบานอยู่บนต้นประมาณ 2 สัปดาห์ ก็จะเหี่ยวร่วงโรยไป แต่บางสายพันธุ์ก็อาจบานได้นานถึง 1 เดือน

ถิ่นกำเนิดของกระเจียว อยู่ในป่าทุกภาคของประเทศไทย เช่น ภาคเหนือ อีสาน และใต้ โดยพบขึ้นอยู่หลากหลายในภาคเหนือ และภาคอีสาน มากกว่าภาคอื่น นอกจากนี้ยังพบในเพื่อนบ้านใกล้เคียง เช่น พม่า ลาว เขมร มาเลเซีย เวียดนาม ด้วย คนไทยรู้จักกระเจียวมานานแล้ว ดังปรากฏในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ พ.ศ. 2416 ว่า “กระเจียว” : ผักอย่างหนึ่ง ต้นใบเช่นขมิ้นอยู่กลางทุ่ง กลางป่าข้างเหนือ ดอกมันกินได้”

กระเจียว มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น ว่านมหาเมฆ ดอกดิน กระชายดง (เลย) อาว (เชียงใหม่)

ประโยชน์

เดิมคนไทยใช้หน่ออ่อน และดอกอ่อนของกระเจียวเป็นอาหาร (ผัก) กินกับน้ำพริกใช้แกง และใช้หน่ออ่อนเป็นยาสมานแผล ดอกอ่อนใช้ขับลม เป็นต้น

ปัจจุบันกระเจียวกลายเป็นไม้ดอกที่มีชื่อเสียงทั้งในพื้นที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ทุ่งดอกกระเจียว จังหวัดชัยภูมิ และการปลูกเป็นการค้า เป็นไม้ดอกกระถาง ทั้งในประเทศและส่งออกต่างประเทศ เป็นไม้ดอกที่ส่งออกติดอันดับต้น ๆ ของไทยอย่างหนึ่ง และมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นทุกปี เพราะส่งออกในรูปหัวซึ่งสะดวก และประหยัดกว่าการส่งออกเป็นต้นหรือดอก

ปัจจุบันมีผู้เก็บรวบรวมพันธุ์กระเจียวจากธรรมชาติมาคัดเลือก และปรับปรุงโดยการผสมพันธุ์อย่างจริงจังหลายราย ทั้งส่วนราชการและเอกชน ประสบความสำเร็จดียิ่ง ดังเช่นที่ได้รับรางวัลในในการประกวดไม้ดอกนานานชาติในงานพืชสวนโลก (ราชพฤกษ์) ที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อต้นปีนี้ ทำให้ชาวโลกได้รู้จัก และยอมรับความงามของกระเจียวมากขึ้น อนาคตของกระเจียวจึงสดใสดุจอัญมณีที่ถูกเจียระไนแล้วเริ่มเปล่งประกายเข้าตาชาวโลก

15.12.08

จำปามีน้ำมันหอมระเหย

จำปา

Orange Chempaka Michelia champaca Linn. MAGNOLIACEAE

ชื่ออื่น : จำปาเขา จำปาทอง จำปาป่า

รูปลักษณะไม้ยืนต้น สูง 15-25 เมตร ยอดอ่อนมีใบเกล็ดหุ้ม ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่ รูปวงรี หรือรูปวงรีแกมขอบขนาน กว้าง 5-10 ซม. ยาว 12-20 ซม.

ท้องใบมีขนนุ่ม ดอกเดี่ยวออกที่ซอกใบ กลีบดอกสีเหลืองส้ม กลิ่นหอม ผลเป็นผลกลุ่ม ผลย่อยติดบนแกนเป็นช่อยาว เมื่อแก่จะแตกสรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยาดอก

- มีน้ำมันหอมระเหย ใช้ดอกแห้งปรุงยาหอม บำรุงหัวใจ บำรุงประสาท บำรุงโลหิต แก้คลื่นไส้ แก้ไข้ ขับปัสสาวะ จัดอยู่ในพิกัดเกสรทั้งเจ็ด รักษาโรคเรื้อนและหิด