21.12.08

กระเจียวอัญมณีจากพงไพรที่เริ่มเปล่งประกาย

กระเจียวอัญมณีจากพงไพรที่เริ่มเปล่งประกาย

ปี พ.ศ. 2550 อาจเป็นปีที่ชาวไทยส่วนใหญ่เริ่มยอมรับ ว่าปรากฏการณ์โลกร้อน (Global Warming) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วจริง ๆ โดยเฉพาะกับประเทศไทย เพราะอากาศเริ่มร้อนขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ เมื่อถึงเดือนมีนาคม อุณหภูมิบางแห่งก็ทะลุ 40 องศาเซลเซียสแล้ว เดือนเมษายน ซึ่งปกติเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดในประเทศไทย คงจะทำสถิติร้อนที่สุดในรอบหลายสิบปี หากไม่มีฝนหลงฤดูมาลดอุณหภูมิลงไปบ้าง

อากาศที่ร้อนจัดทำให้ดอกหลายชนิดเหี่ยวเฉา แต่ไม้ดอกพื้นเมืองส่วนใหญ่ กลับออกดอกงดงามเป็นพิเศษ เช่น คูน หรือราชพฤกษ์ เป็นต้น จากนี้ไปในอนาคตที่แนวโน้มอุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ จึงคาดว่า พันธุ์ไม้ดอกพื้นเมืองของไทย จะเพิ่มความสำคัญขึ้นทุกที ไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังขยายออกไปต่างแดนด้วย ตัวอย่างที่จะยกมาในที่นี้ คือ กระเจียว

กระเจียว : ไม้ดอกพื้นบ้านดั้งเดิมจากพงไพร

กระเจียวมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Curcuma aeruginosa Roxb. อยู่ในวงศ์ Zingiberaceae เช่นเดียวกับ ขิง ข่า ขมิ้น ฯลฯ เป็นพืชล้มลุกที่มีลำต้นใต้ดิน (เรียกว่าหัว)

ใบ จะงอกออกจากลำต้นใต้ดินในฤดูฝน โผล่พ้นผิวดินขึ้นมา ประกอบด้วยก้านใบ (กาบใบ) ห่อรวมกันแน่นกลายเป็นลำต้นเทียม แล้วแยกออกจากกันเป็นก้านใบ และแผ่นใบ คล้ายกระชาย หรือขมิ้น สูงตั้งแต่ประมาณ 20 -30 เซนติเมตร ขึ้นไปถึงราว 100 เซนติเมตร

ดอก ดอกกระเจียวจะโผล่ออกตรงกลางลำต้นเทียมเป็นดอกแบบช่อ ก้านช่อดอกยาวตรง มีดอกจริงอยู่รอบ ๆ ก้านดอก เป็นชั้น ๆ ด้านนอกมีใบประดับดอกเป็นกลีบหนา และมีสีสวยงาม เช่น สีส้ม สีแดง สีขาว สีชมพู สีเขียว เป็นต้น ดอกกระเจียวจะออกดอกในช่วงฤดูฝน มีอายุบานอยู่บนต้นประมาณ 2 สัปดาห์ ก็จะเหี่ยวร่วงโรยไป แต่บางสายพันธุ์ก็อาจบานได้นานถึง 1 เดือน

ถิ่นกำเนิดของกระเจียว อยู่ในป่าทุกภาคของประเทศไทย เช่น ภาคเหนือ อีสาน และใต้ โดยพบขึ้นอยู่หลากหลายในภาคเหนือ และภาคอีสาน มากกว่าภาคอื่น นอกจากนี้ยังพบในเพื่อนบ้านใกล้เคียง เช่น พม่า ลาว เขมร มาเลเซีย เวียดนาม ด้วย คนไทยรู้จักกระเจียวมานานแล้ว ดังปรากฏในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ พ.ศ. 2416 ว่า “กระเจียว” : ผักอย่างหนึ่ง ต้นใบเช่นขมิ้นอยู่กลางทุ่ง กลางป่าข้างเหนือ ดอกมันกินได้”

กระเจียว มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น ว่านมหาเมฆ ดอกดิน กระชายดง (เลย) อาว (เชียงใหม่)

ประโยชน์

เดิมคนไทยใช้หน่ออ่อน และดอกอ่อนของกระเจียวเป็นอาหาร (ผัก) กินกับน้ำพริกใช้แกง และใช้หน่ออ่อนเป็นยาสมานแผล ดอกอ่อนใช้ขับลม เป็นต้น

ปัจจุบันกระเจียวกลายเป็นไม้ดอกที่มีชื่อเสียงทั้งในพื้นที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ทุ่งดอกกระเจียว จังหวัดชัยภูมิ และการปลูกเป็นการค้า เป็นไม้ดอกกระถาง ทั้งในประเทศและส่งออกต่างประเทศ เป็นไม้ดอกที่ส่งออกติดอันดับต้น ๆ ของไทยอย่างหนึ่ง และมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นทุกปี เพราะส่งออกในรูปหัวซึ่งสะดวก และประหยัดกว่าการส่งออกเป็นต้นหรือดอก

ปัจจุบันมีผู้เก็บรวบรวมพันธุ์กระเจียวจากธรรมชาติมาคัดเลือก และปรับปรุงโดยการผสมพันธุ์อย่างจริงจังหลายราย ทั้งส่วนราชการและเอกชน ประสบความสำเร็จดียิ่ง ดังเช่นที่ได้รับรางวัลในในการประกวดไม้ดอกนานานชาติในงานพืชสวนโลก (ราชพฤกษ์) ที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อต้นปีนี้ ทำให้ชาวโลกได้รู้จัก และยอมรับความงามของกระเจียวมากขึ้น อนาคตของกระเจียวจึงสดใสดุจอัญมณีที่ถูกเจียระไนแล้วเริ่มเปล่งประกายเข้าตาชาวโลก